“ฟุตบอลไทย” จากกีฬาสู่การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น (3) ฟุตบอลกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
ศึกษาโมเดลฟุตบอลลีกอังกฤษ ส่งผลดีต่อชุมชนและเศรษฐกิจได้อย่างไร แล้วย้อนกลับมาดูวงการฟุตบอลไทยที่เริ่มระบบลีกอาชีพในทศวรรษ 2540 จนในปัจจุบันกลายเป็น 'ไทยลีก' ที่มีฐานแฟนบอลและสโมสรฟุตบอลประจำจังหวัด รวมไปถึง 'บุรีรัมย์โมเดล' ที่ทำให้ท้องถิ่นตื่นตัวอยากสานฝันสร้างทีมฟุตบอลของตนเพิ่มมากขึ้น แต่จังหวัดอื่นไม่มีคนอย่างเนวิน แล้วพวกเขาจะไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไร?
สนามกีฬาของสโมสรฟุตบอล Dumbarton F.C. ที่เวสต์ ดันบาร์ทันชีร์ สหราชอาณาจักร (ที่มา: John Ferguson/geograph.org.uk/wikipedia)
กีฬาฟุตบอลถือกำเนิดในสหราชอาณาจักร มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชนและท้องถิ่น ไม่เพียงแต่เป็นกีฬาที่สร้างความสนุกสนานและตื่นเต้น ทีมฟุตบอลยังช่วยยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน สร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนอื่น รวมทั้งยังช่วยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น
หากจะขยายความเรื่องการยึดเหนี่ยวผู้คนในชุมชนนั้น ก็เป็นเพราะการที่ผู้คนในชุมชนสามารถมารวมตัวกันในการชมการแข่งขันฟุตบอล หรืออาจมีกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อื่น ๆ ทำให้ผู้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
ในอังกฤษ แม้วัฒนธรรมของแฟนฟุตบอลจะแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่แล้วแฟนฟุตบอลจะเริ่มสนับสนุนทีมฟุตบอลท้องถิ่นตั้งแต่อายุยังน้อยจนถึงวัยชรา เรียกได้ว่ามีความผูกพันกับทีมฟุตบอลของท้องถิ่นไปตลอดชีวิต ความหลงใหลฟุตบอลในหมู่แฟนบอลชาวอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งเป็นแม่แบบให้กับวัฒนธรรมฟุตบอลในประเทศอื่น ๆ
ฟุตบอลสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
แผนภาพแสดงรายได้และมูลค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจจากสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ (ที่มา: Premier League)
การแข่งขันฟุตบอลถือเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันฟุตบอลอาชีพที่ได้รับความนิยม ส่งผลบวกต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สนามกีฬา โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า การท่องเที่ยวท้องถิ่น เกิดงานจ้างงานและเสริมสร้างเศรษฐกิจในชุมชน โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีทีมฟุตบอลอาชีพตั้งอยู่
ข้อมูล ณ ปี 2019 ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ระบุว่าทั่วโลกมีทีมฟุตบอลอาชีพ 3,903 ทีม ใน 201 ประเทศ ส่วนทีมฟุตบอลในระดับสมัครเล่นประมาณการกันว่ามีมากกว่า 1 ล้านทีม
สำหรับอังกฤษ ประเทศแม่แบบของการแข่งขันฟุตบอลอาชีพนั้น มีทีมฟุตบอลทั้งอาชีพและสมัครเล่นมากกว่า 40,000 ทีม ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นทีมสมัครเล่นและกึ่งอาชีพที่อยู่นอกการแข่งขันระดับลีกสูงสุด (4 ระดับ) กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ของอังกฤษ ทีมเหล่านี้แม้ไม่ได้ร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีก แต่ก็ยังคงสามารถลงแข่งขันในรายการต่างๆ เช่น FA Cup (การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยจัดการแข่งขันโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ) และรายการแข่งขันอื่นๆ อีกประมาณ 2,000 รายการ
ในอังกฤษ ทีมฟุตบอลชั้นนำประจำเมืองใหญ่ เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, ลีดส์ ยูไนเต็ด, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และอีกมากมาย ได้สร้างเม็ดเงินแก่ท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่นนอกเหนือจากการจ้างงานของทีมฟุตบอล ในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องอื่นๆ ในท้องถิ่น เช่น การบริการต่าง ๆ อาหารและเครื่องดื่ม การขนส่ง โรงแรม และธุรกิจการค้า เป็นต้น
ช่วงฤดูกาล 2019/20 ของการแข่งขันพรีเมียร์ลีก (Premier League: การแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของระบบลีกฟุตบอลอังกฤษ) ที่ถึงแม้จะถูกระงับนานกว่า 3 เดือน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความมั่งคั่งจากการแข่งขันพรีเมียร์ลีกกลับเติบโตขึ้นถึง 840% เมื่อเทียบกับฤดูกาล 1998/99
ในช่วงฤดูกาล 2019/20 มีการประเมินว่าการแข่งขันพรีเมียร์ลีกมีมูลค่าในระบบเศรษฐกิจถึง 7.6 พันล้านปอนด์ พรีเมียร์ลีกและทีมต่างๆ เสียภาษีให้รัฐบาลรวม 3.6 พันล้านปอนด์ โดยในจำนวนนี้ 1.4 พันล้านปอนด์เป็นการเสียภาษีของนักฟุตบอลอาชีพ ลีกและทีมฟุตบอลต่าง ๆ ยังได้สร้างการจ้างงานถึง 94,000 ตำแหน่งทั่วอังกฤษ
ย้อนไปก่อนหน้านั้นในฤดูกาล 2016/17 มีการศึกษาผลกระทบของทีมฟุตบอลชั้นนำของอังกฤษที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ พบว่านักท่องเที่ยว 686,000 คน ที่เดินทางมายังอังกฤษมีเป้าหมายมาเยี่ยมชมสนามหรือเชียร์ทีมฟุตบอลเป็นหลัก ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ใช้เงินเฉลี่ยวันละ 555 ปอนด์ต่อคนต่อวัน
ฟุตบอลระดับรากหญ้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น
โครงการฝึกสอนฟุตบอลเยาวชนอังกฤษ ภายใต้โปรแกรม FA Respect equipment scheme ภาพเมื่อปี พ.ศ. 2555 (ที่มา: The FA)
รายงานของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ที่เผยแพร่ปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ ระบุว่าผู้คนมากกว่า 13.5 ล้านคน เล่นฟุตบอลเป็นประจำทั่วอังกฤษ โดยฟุตบอลระดับรากหญ้านี้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10.16 พันล้านปอนด์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็น
1. มูลค่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยตรง 7.74 พันล้านปอนด์ ซึ่งรวมถึงค่าจ้างสำหรับนักฟุตบอล โค้ช ผู้ตัดสิน อาสาสมัคร และคนทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมูลค่าจากการบริโภค ทั้งการขายตั๋ว การขายชุดแข่งขันและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
2. มูลค่าเม็ดเงินที่ระบบหลักประกันสุขภาพของอังกฤษ (NHS) สามารถประหยัดได้ FA ประเมินว่าการเล่นฟุตบอลเป็นประจำส่งผลให้ผู้ใหญ่จำนวน 141,300 คน มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วย และกีฬาประเภททีมยังช่วยลดผู้มีปัญหาทางจิตลงถึง 62,200 ราย เหล่านี้ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ถึง 1.62 พันล้านปอนด์
3. มูลค่าทางสังคม (social value) FA ประเมินว่าฟุตบอลรากหญ้านั้นส่งเสริมการเรียนรู้และลดอาชญากรรมในเยาวชนได้ ซึ่งเมื่อตีเป็นจำนวนเงิน มูลค่าทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้มีถึง 780 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
มูลค่าทางเศรษฐกิจของฟุตบอลทั่วอังกฤษ (ที่มา: Consultancy.uk)
เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากฟุตบอลรากหญ้าในอังกฤษมีการกระจายตัวอยู่ในระดับค่อนข้างดี (ไม่กระจุกตัวหรือเหลื่อมล้ำมากนัก) พบว่าตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษฟุตบอลรากหญ้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.66 พันล้านปอนด์ มากกว่าเมืองหลวงอย่างลอนดอนที่ 1.62 พันล้านปอนด์ ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมฟุตบอลแข็งแกร่งอย่างภาคตะวันตกเฉียงเหนือก็มีตัวเลขสูงด้วยเช่นกันที่ 1.32 พันล้านปอนด์ ส่วนภูมิภาคที่มีมูลค่าต่ำสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ยังมีมูลค่าสูงถึง 482 ล้านปอนด์ เลยทีเดียว
ตัดภาพมาที่ฟุตบอลในท้องถิ่นของไทย
ย้อนกลับมาดูบริบทของฟุตบอลในประเทศไทย การแข่งขันฟุตบอลก็มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ปี 2443 และล้มลุกคลุกคลานมาจนมาถึงปี 2539 ได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพที่ใช้ระบบลีกเป็นครั้งแรก มีชื่อที่เปลี่ยนหลายครั้งตั้งแต่ ‘ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก’ (Thailand Soccer League), ‘ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก’ (Thailand Premier League) ‘ไทยพรีเมียร์ลีก’ (Thai Premier League) จนมาถึง ‘ไทยลีก’ (Thai League) ในอดีตสโมสรฟุตบอลอาชีพมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนในปี 2542 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้จัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพระบบลีกในส่วนภูมิภาค โดยให้ชื่อว่า ‘โปรวินเชียลลีก’ (Provincial League) ในปี 2545 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โปรเฟสชันนัลลีก’ (Professional League) ต่อมาในปี 2549 สโมสรฟุตบอลชลบุรี และสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี จากโปรเฟสชันนัลลีกได้เข้าร่วมแข่งในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก และในฤดูกาลปี 2550 ก็มีการควบรวม 'โปรเฟสชันนัลลีก' เข้ากับการแข่งขัน 'ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก' และ 'ไทยลีกดิวิชัน 1' แทน
ก่อนหน้าการยุบรวมลีกนั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้วทีมฟุตบอลอาชีพส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่หลังจากนั้นก็พบว่าทีมในระดับจังหวัดเริ่มเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตื่นตัวในบอลไทยได้สร้างกระแสท้องถิ่นนิยมขึ้นหลายมิติ กลายเป็นกิจกรรมนันทนาการที่คอยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลไทยหันไปหาท้องถิ่นมากขึ้น คือการก้าวเข้ามาทำทีมฟุตบอลของนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นมากขึ้น
ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่านักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นมองเห็นว่า ฟุตบอลสามารถเป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างความสัมพันธ์และติดต่อสื่อสารกับประชาชนได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การสนับสนุนและการเข้ามาถือครองสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นยังเป็นวิธีที่นักการเมืองระดับท้องถิ่นสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาชนได้อีกด้วย
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงฟุตบอลไทยและความตื่นตัวในการสนับสนุนทีมฟุตบอลท้องถิ่น สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้คือความภูมิใจของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ทีมฟุตบอลท้องถิ่นมักถูกมองว่าเป็นตัวแทนของชุมชน ฉะนั้นความสำเร็จหรือความล้มเหลวของทีมก็นำมาซึ่งกระแสต่าง ๆ ที่สะท้อนความรู้สึกของประชาชนท้องถิ่น ดังนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สามารถกล่าวได้ว่าในระดับท้องถิ่นฟุตบอลอาจไม่เพียงแต่เป็นกีฬาแต่ยังเป็นธุรกิจ ความสำเร็จของทีมฟุตบอลท้องถิ่นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชน และเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนระดับท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าฟุตบอลไทยมีศักยภาพในการเป็นกิจกรรมที่สร้างความรุ่งเรืองสำหรับท้องถิ่นในระยะยาว
บุรีรัมย์โมเดล
สนามฟุตบอลช้างอารีนา (Chang Arena) สนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด (ที่มา: BURIRAM UNITED)
ในบรรดาทีมฟุตบอลท้องถิ่น ทีมฟุตบอลประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นแม่แบบสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกีฬาฟุตบอล จากการสืบค้นใน Thai Journals Online ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวารสารวิชาการในรูปแบบวารสารออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ และ Thailand Library Integrated System ฐานข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ พบว่ามีบทความวิชาการ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ อย่างน้อย 6 ชิ้น ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างทีมฟุตบอลกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์
โดยเฉพาะในงานศึกษาเรื่อง 'บทบาทของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดในการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์' โดยรัฐชาติ ทัศนัย และวรเดชจันทรศร เมื่อปี 2559 พบว่าบุรีรัมย์จากเคยเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรั้งท้ายของประเทศ เมื่อมีทีมฟุตบอลอาชีพในจังหวัดในระยะเวลาเพียง 6 ปี (2552-2558) สามารถทำให้ทั้งทีมฟุตบอลประสบความสำเร็จ และยังช่วยให้จังหวัดบุรีรัมย์พัฒนาขึ้นอย่างน่าสนใจ ในอดีตนั้นแม้ภาครัฐเร่งรัดทุ่มเทงบประมาณและนโยบายผ่านโครงต่างๆ มากมายลงไปพัฒนาจังหวัดตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมากลับไม่ประสบความสำเร็จ แต่การพัฒนาจังหวัดผ่านกีฬาฟุตบอลและทีมฟุตบอลประจำจังหวัดสามารถทำให้บุรีรัมย์พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด
ก่อนที่จะมีทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด พบว่าจังหวัดบุรีรัมย์มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจังหวัดบุรีรัมย์ใน 5 ปีก่อนที่จะมีการตั้งทีมฟุตบอลอาชีพของจังหวัดบุรีรัมย์คือระหว่างปี 2547-2551 มีมูลค่าเฉลี่ย 5 ปี 41,368 ล้านบาท และมีอัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละปี 3,004 ล้านบาทหรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ในขณะที่หลังการเริ่มเข้ามาทำทีมฟุตบอลของกลุ่มเนวิน ชิดชอบตั้งแต่ปี 2552 พบว่ามูลค่า GDP ของจังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างปี 2552-2556 มีมูลค่าเฉลี่ย 5 ปี 67,388 ล้านบาท ซึ่งมีค่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ย 5 ปี ก่อนมีการจัดตั้งทีมฟุตบอลถึง 25,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละปี 6,744 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี และในบ้างปีมีเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 10 ถือได้ว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรเฉลี่ย 5 ปี ก่อนจะมีการกิจกรรมด้านกีฬาฟุตบอล คือ 30,153 บาทต่อคนต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 2,740 บาทต่อปี หลังมีการตั้งทีมฟุตบอลอาชีพของจังหวัดและจัดกิจกรรมต่างๆ ทางกีฬา คือระหว่างปี 2552–2556 มีรายได้เฉลี่ย 5 ปี 53,000 บาทต่อคนต่อปี มีอัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละปี 5,644 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของรายได้ถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนจะมีทีมฟุตบอลอาชีพของจังหวัด
ด้านการท่องเที่ยว พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดบุรีรัมย์ก่อนปี 2552 นั้นมีราว 600,000 คน และมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 29,000 คนต่อปี แต่นับตั้งแต่การนำกีฬาเข้ามาพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์โดยใช้ทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ดเป็นตัวนำพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมาขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 879,452 คนในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 1,186,759 คนในปี 2556 ในส่วนของรายได้จาการท่องเที่ยวพบว่าในปี 2552 ก่อนจะมีกิจกรรมทางฟุตบอล รายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรงของจังหวัดบุรีรัมย์เท่ากับ 808.48 ล้านบาท แต่หลังจากนำฟุตบอลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจังหวัด พบว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 4 ปี โดยในปี 2556 พบว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,659.79 ล้านบาท ในปี 2557 ข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่าบุรีรัมย์กลายเป็นเมืองที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวมากที่สุด
อย่างไรก็ตามบุรีรัมย์อาจเป็นกรณีเฉพาะ เนื่องจากมี 'แรงผลักดันพิเศษ' จากกลุ่มการเมืองของเนวิน ชิดชอบ แกนนำเบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคการเมืองนี้มักจะเข้าร่วมรัฐบาลมาอย่างยาวนาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุรีรัมย์คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นอื่น ๆ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มีความตื่นตัวในการสร้างทีมฟุตบอลสำหรับท้องถิ่นของตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ท้องถิ่นอื่นไม่มีคนอย่างเนวิน แล้วเขาจะไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไร