‘คนเล็ก’ ในผลกระทบข้ามชาติ: การดิ้นรนของคนลุ่มน้ำโขง
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท
บันทึกการเดินทาง และบทสนทนากับบรรดาผู้คนจากลุ่มน้ำโขงตอนบน เล่าวิธีรับมือ ‘โขงรวน’ เมื่อระดับน้ำโขงขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติอันมามีผลมาจากเขื่อนระบายน้ำ ความพยายามรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตอนในตั้งแต่การดูแลพื้นที่ชุมน้ำอย่าง “ป่าบุญเรือง” และกลุ่มเยาวชนเล่าเรื่องการอนุรักษ์ และรักษาความหลากหลายของอาหารชาติพันธุ์อาข่าผ่านโซเชียลมีเดีย ‘Seeds Journey’
การสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงตอนบนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ส่งผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือพื้นที่เกษตรริมแม่น้ำโขงหายไป อันเนื่องมาจากการพังทลายของตลิ่งเพราะระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงผิดธรรมชาติ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘โขงรวน’ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในพื้นที่ เช่น การหายไปของนกแม่น้ำโขง เพราะขาดที่ทำรังและวางไข่ริมตลิ่ง พืชอาหารหลายชนิดหายไป ส่งผลต่อฤดูอพยพของปลาที่หาได้ยากขึ้น หรือมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ตลอดจนถึงดินดอนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขง - สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง จังหวัดเชียงราย
โฮงเฮียนน้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ภาพ: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ
ปัญหาของแม่น้ำโขงในภาคเหนือของไทยเกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปี นับเนื่องมาจาก ‘เขื่อนม่านว่าน’ (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกสร้างเสร็จในปี 2536 ปัจจุบัน เฉพาะลุ่มน้ำโขงตอนบน สร้างเขื่อนไปแล้วถึง 11 แห่ง ส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค และสร้างความเสียหายต่อผู้คนในภูมินิเวศ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม
สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยรายงาน ‘แม่น้ำโขง สายน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลง’ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2566 ระบุว่า แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายหลักที่มีแม่น้ำสาขาครอบคลุมหลายพื้นที่ใน หลายประเทศ ภูมินิเวศของแม่น้ำโขงจึงมีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งก็คือ ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขง ที่กำลังถูกท้าทาย องค์ความรู้นี้เป็นความรู้เฉพาะถิ่น (situated knowledge) เพื่อความอยู่รอด มั่นคง ซึ่งสะสมผ่านคนหลายรุ่น สืบทอดต่อๆ กันมาผ่านการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาท้าทายอยู่เสมอ ทั้งมิติของสร้างรายได้ หรือการผลิตอาหารและวัฒนธรรมท้องถิ่น เฉพาะแค่จังหวัดเชียงราย ระบบนิเวศแม่น้ำโขงก็มีความหลากหลายแยกย่อยมากมาย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนบน จึงกระทบกับระบบนิเวศและชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง โดยเฉพาะกับ ‘คนเล็ก’ ที่ปราศจากอำนาจต่อรองและไม่เคยได้รับความเหลียวและจากรัฐ คนเหล่านี้จึงลุกขึ้นมาต่อสู้ตามยถากรรม ฟ้องโลกถึงผลกระทบที่เขาได้รับ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์การพัฒนาเอกชน บ้างก็พัฒนาเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ที่สร้างและสื่อสารความรู้เพื่อการแก้ปัญหาและหาทางออกจากวิกฤติลุ่มน้ำโขง จนกลายมาเป็นกลไกขับเคลื่อนการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่
แม่น้ำโขง ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ภาพ: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ
30 ปี วิกฤติ ‘โขงรวน’
20 กว่าปีที่ผ่านมา เขื่อนได้เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งวิกฤติปัญหามากมายพวกนี้ไม่มีทางออก เขื่อนทางตอนบนเกิด 2 เขื่อน ทางตอนล่าง ไซยะบุรี ดอนสะโฮง เกิดขึ้นไปแล้ว ขณะนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกคือปากแบง ปากลาย รัฐบาลกำลังไปเซ็นสัญญาไฟฟ้าจากเขื่อนพวกนี้เกิดขึ้นอีก เรื่องราวพวกนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ
ภาพ: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize 2565 ได้พูดถึงประเด็นการปลดปล่อยแม่น้ำโขงออกจากวาทกรรม ‘พรมแดนรัฐ-ชาติ’ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 โดยชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงเข้าขั้นวิกฤติแล้วในปัจจุบัน และวิกฤติสำคัญมาจากการสร้างเขื่อน ล่าสุดคือเขื่อนปากแบง ซึ่งอยู่ติดกับประเทศไทย หรือการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือการลงทุนข้ามแดนที่เข้ามาใช้ทรัพยากรของแม่น้ำโขง โดยอ้างประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีงานวิจัยชี้แล้วว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่กระทบกับผู้คนแ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การสร้างเขื่อนยังมักอ้างความชอบธรรมว่า ที่ตั้งของเขื่อนอยู่ในอธิปไตยแห่งรัฐชาติ โดยไม่สนใจความเชื่อมต่อกันของระบบนิเวศและผู้คนทั้งลุ่มน้ำสายนี้ใช้ด้วยกันทั้ง 6 ประเทศ ขณะที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติของทุกคน ปัญหานี้จึงมองแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้
"ประชาชนเคยฟ้องศาลกรณีเขื่อนไซยะบุรี (ในลาว) ฟ้องตั้งแต่ปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินในปี 2565 ประเด็นคือ ชาวบ้านฟ้องว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสร้างผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ซึ่งนั่นก็คือ การสร้างเขื่อน แต่ศาลเห็นว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบ เขื่อนต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น การอาศัยกลไกกฎหมายของไทยจึงไม่สามารถหยุดยั้งเขื่อนได้ เขื่อนแม่น้ำโขงจึงเหมือนวิกฤติที่ไร้ทางออก”
นิวัฒน์ยังชี้ให้เห็นประเด็นเรื่องรัฐชาติในวิกฤติลุ่มน้ำโขงโดยกล่าวว่า รัฐชาติมักใช้อำนาจครอบงำทรัพยากรที่ประชาชนหลายประเทศใช้ร่วมกัน รัฐไม่ได้คำนึงถึงคนลุ่มน้ำ เป็นรัฐชาติที่แข่งตัวที่สามารถจะกระทำอะไรก็ได้ต่อแม่น้ำ ทั้งที่แม่น้ำสายนั้นไหลผ่านหลายประเทศและเป็นของคนหลายชาติใช้ร่วมกัน แม่น้ำโขงจึงมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม วัฒนธรรม การขีดเส้นแบ่งพรมแดนที่แข็งตัวมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม หรือตั้งแต่เกิดรัฐสมัยใหม่ที่แบ่งเขตแดนระหว่างประเทศชัดเจนบนแผนที่จนเป็นพื้นที่อธิปไตยของรัฐ ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการ ทั้งๆ ที่การจัดการนั้นรัฐไม่ได้กระทำลำพัง แต่เกิดจากการร่วมมือระหว่างรัฐและทุนข้ามชาติ เช่น บริษัทพลังงานขนาดใหญ่เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดเขื่อนปากแบง หรือเขื่อนสานะคามที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้
“ปัจจุบัน (2566) ทางตอนบนแม่น้ำโขงมีการสร้างเขื่อนแล้ว 11 เขื่อน เป็นบริเวณต้นกำเนิดแม่น้ำโขง ยังมีเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนอื่นๆ ทางตอนล่างอีกรวมทั้งหมด 11 เขื่อน โครงการเหล่านี้คือมูลเหตุสำคัญของการพัฒนาที่ไม่สมดุล และมองเฉพาะพื้นที่หรือรัฐชาติของตนโดยไม่ได้มององค์รวม เป็นการมองแบบตัดระบบนิเวศของลุ่มน้ำออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพูดถึงปลา ไม่มีปลาลาว ปลาไทย ปลาพวกนี้มันเป็นปลาของน้ำโขง ไม่มีพรมแดน มันไม่มีรัฐชาติ แต่คุณเอาคำว่าพรมแดน เอาคำว่ารัฐชาติไปใส่ให้ ผ่านโครงสร้างคือเขื่อน”
แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง
ที่มา: Mymekong/หนังสือ ‘สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง สำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง’
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ได้เล่าถึงรายงาน-หนังสือ ‘สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง สำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง’ โดยย้ำให้เห็นความสำคัญของการรวบรวมสถานการณ์ในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ทุกคนเห็นว่า ในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้า ทุกคนจึงเป็นเจ้าของปัญหาเหมือนกัน การสนใจเรื่องแม่น้ำโขงไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่มีบ้านติดกับแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่คือการติดตามการทำงานของภาครัฐและทุนที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบชัดเจนกับคนในพื้นที่ โดยมีผลกระทบทางอ้อมคือ ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ที่ต้องซื้อไฟฟ้าในราคาที่ไม่เหมาะสม
ข้อมูลล่าสุดคือ รัฐบาลจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ารวม 28 โครงการ บนแม่น้ำโขงตอนบนของจีน โครงการที่กำลังดำเนินการ คือเขื่อนแห่งที่ 12 หรือเขื่อน Taoba DAM สิ่งที่น่ากังวลคือ แม่น้ำโขงตอนบนตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ซึ่งนักธรณีวิทยาระบุว่า เป็นรอยเลื่อนเปลือกโลกที่ยังมีพลังงานและเคยเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลยูนนานติดกับบริเวณเขื่อนที่กักน้ำมหาศาลซึ่งอาจสร้างหายนะขนาดใหญ่แก่ประชาชนจำนวนหลายแสนคน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า การที่มีเขื่อนจำนวนมากอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระดับน้ำที่ผันผวน ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งมีงานศึกษาวิจัยยืนยันว่า ปริมาณน้ำในช่วงน้ำหลากลดลง ส่วนปริมาณน้ำในช่วงน้ำแล้งกลับเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการสร้างและการใช้เขื่อน เฉลี่ยแล้ว 45% ของน้ำในลุ่มน้ำโขงช่วงหน้าแล้งในจีน แม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ราว 90-95% ในฤดูแล้ง มาจากน้ำโขงที่มาจากเขื่อนจิงหง (Jinghong dam) ในเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 340 กิโลเมตรเท่านั้น
ป่านอกนิยามรัฐ : ใช้ ‘ข้อมูล’ กู้ถิ่น
ในพื้นที่ของประเทศไทย พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะอยู่ในการดูแลและมีการจัดการจากหน่วยงานรัฐ เช่น ต้นน้ำ ป่าไม้ อุทยาน ป่าชุมชน แต่ป่านอกนิยาม คือ การรักษาโดยชาวบ้าน โดยชุมชน อาจเป็นป่าหัวไร่ปลายนา ผ่านการดูแลรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกัน ใช้ภูมิปัญญา องค์ความรู้ท้องถิ่น หลักความเชื่อ มีความตระหนักสำนึกร่วมกันในทรัพยากร มีกฎระเบียบการใช้ทรัพยากรร่วมกันของคนในชุมชน - พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค
ที่หมู่บ้านบุญเรือง ตําบลบุญเรือง อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิง แม่น้ำสาขาซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม้จากปากแม่น้ำอิงจะห่างจากเขื่อนจิงหง (Jinghong dam) ในประเทศจีนถึง 400 กิโลเมตร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแม่น้ำโขงที่เห็นได้ชัด คือการไหลของน้ำที่ผิดเพี้ยนฤดูกาลจนสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศริมฝั่ง ในช่วงฤดูหลาก ปริมาณน้ำกลับลดลง ซึ่งเป็นผลจากเขื่อนที่กักเก็บน้ำเอาไว้ ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตลอดลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาซึ่งเคยเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงมีระดับน้ำลดลงไปด้วย และส่งผลกระทบต่อการไหลของตะกอนดินและสารอาหารไปยังพื้นที่น้ำท่วมถึงตามธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) ตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง
ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ภาพ: อพิเชษฐ์ สุขแก้ว
พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค ผู้ประสานงานชุมชนบุญเรือง
ภาพ: อพิเชษฐ์ สุขแก้ว
พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค ผู้ประสานงานชุมชนบุญเรือง ผู้ขับเคลื่อน 'ป่าบุญเรือง' พื้นที่ป่าอนุรักษ์นอกนิยาม ที่หมายถึงการจัดการโดยคนท้องที่ เขาอธิบายว่า ‘ป่า’ นั้นหากนิยามในความหมายของรัฐแล้ว พื้นที่ป่าประมาณ 3,000 ไร่ บริเวณหมู่บ้านบุญเรือง อยู่ติดแม่น้ำอิง แม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือที่ไหลออกแม่น้ำโขง ย่อมไม่ใช่นิยามเดียวกันกับ ‘ป่าของรัฐ’ ทั้งลักษณะ ขนาดของพื้นที่และรูปแบบการอนุรักษ์
ในปี 2557 รัฐบาล คสช. เคยพยายามจะยึดพื้นที่นี้ไปทำโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยทางการเห็นว่า ป่าชุ่มน้ำเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ต้องให้ทางการไปทำประโยชน์ด้วยการถมที่ดิน แต่คนในชุมชนไม่ยินยอมให้รัฐดำเนินการแล้วลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่เหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงคนตัวเล็กในป่าชุ่มน้ำ การตัดสินใจลุกขึ้นสู้ของชุมชน นำไปสู่กระบวนการสร้างความรู้และแนวทางการอนุรักษ์ฉบับท้องถิ่นตอบโต้โครงการพัฒนาของรัฐ จนกระทั่งกลายเป็นรูปแบบการจัดการป่านอกนิยาม ‘ป่าบุญเรือง’ แห่งนี้
‘ป่าบุญเรือง’ เป็น 1 ในป่า 10 แห่งทั่วโลกที่ได้รับรางวัล ‘Equator Prize’ ของ United Nations Development Programme (UNDP) รางวัลป่าระดับโลกที่เอาชนะป่า 500 กว่าแห่งจาก 120 ประเทศที่ส่งเข้าประกวดในปี 2563
วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก “สืบชะตาป่าส้มแสง พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ภาพ: พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค
วิถีชีวิตบ้านๆ ลูกหลานแม่น้ำอิง
ภาพ: พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค
ผู้ประสานงานชุมชนบุญเรือง ยังย้ำถึงเรื่องการให้ความสำคัญของการทำข้อมูล ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากทำงานวิจัยจึงได้เห็นว่า ป่าแห่งนี้สร้างประโยชน์ถึง 121 ล้านบาทต่อปี เป็นมูลค่าที่เกิดจากชุมชนได้ใช้ประโยชน์ทั้งการบริโภคและจากความสามารถในการจัดการป่า
การเก็บข้อมูลยังพบว่ามีพืชพันธุ์ไม้ที่อยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ชนิด ซึ่งเป็นทั้งพืชสวนครัวและพืชสมุนไพรใช้ประโยชน์เบื้องต้น อีกส่วนหนึ่งคือสัตว์ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน ในกรณีสัตว์น้ำอย่างปลา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ จากเดิมแม่น้ำอิงมีพันธุ์ปลาอยู่ 282 ชนิด ปัจจุบันเมื่อระดับน้ำเกิดความผันผวน ส่งผลให้ในแม่น้ำอิงปัจจุบันมีพันธุ์ปลาพื้นถิ่นเหลืออยู่เพียง 100 กว่าชนิด
อย่างการเก็บข้อมูลของชุมชนบุญเรือง ยังคงพบพันธุ์ปลาพื้นถิ่นมีอยู่ประมาณ 86 ชนิด และมีพันธุ์ปลาต่างถิ่นอีก 16 ชนิด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นชัดถึงความอุดมสมบูรณ์ที่รักษาไว้ได้ ขณะเดียวกันก็เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่หายไปในบริเวณแม่น้ำสาขาของน้ำโขง และจากการเก็บข้อมูลทำให้ชุมชนบุญเรืองมีบัญชีข้อมูลพืชผัก แมลง สัตว์น้ำ และอาหารตลอดทั้งปีอีกด้วย
“ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองเป็นแหล่งเรียนรู้ ผลักดันทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้เห็นว่า ป่ามีอะไรให้เข้าใจมากมายหลายประเด็น ตัวหลักสูตรท้องถิ่นที่เกิดในชุมชนยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ของคนกับป่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คือความพยายามของภาคีเครือข่ายในลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำโขง และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำนี้ เพื่อสื่อสารกับนักวิชาการหรือเพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยสนับสนุนข้อมูลของชุมชนอื่นๆ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตอนนี้” พิชเญศพงษ์กล่าว
ปฏิทินพืชผักอาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง
ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
มกราคม
สภาพอากาศ หนาว
พืชผัก ยอดสะเดา ผักแว่น ผักตบ ผักกูด ผักกุ่ม มะระขี้นก ผักแซ่ว ผักขี้เสียด (ผักอีไร) ผักปู่ย่า (ชะเรือด) ขี้เหล็ก เทา (เตา) มะกอก มะขาม ผักขี้เหล็ก ผักเปี๋ยว ผักกาบปี ผักกาดนา ดอกงิ้วป่า
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด ฯ หอยขม หอยกาบ หอยเสียม
แมลง ผึ้ง แมงดา ไข่มดแดง ไข่แมงมัน ขี้เบ้า (กุดจี่ใหญ่)
อาหาร ตำเตา แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา แกงไข่แมงมัน แกงขี้เบ้า น้ำพริกปลาแห้ง น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะกอก ลาบปลา (สุก/ดิบ) ยำปลาแห้ง น้ำพริกแมงดา แกง แกงหอยจูบ (หอยขม) แกงผักขี้เสียด แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว แกงไข่มดแดง แกงส้มยอดผักตบชวา น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา ห่อหมกปลากระทิง แกงหน่อส้ม ตำหน่อส้ม
กุมภาพันธ์
สภาพอากาศ หนาว/เข้าฤดูร้อน
พืชผัก สะเดา ยอดสะเดา ผักตบ ผักกูด ผักกุ่ม มะระขี้นก ผักแซ่ว ผักขี้เสียด (ผักอีไร) ผักปู่ย่า (ชะเรือด) ขี้เหล็ก เทา (เตา) มะกอก มะขาม ผักขี้เหล็ก ผักเปี๋ยว ผักกาบปี ผักกาดนา ดอกงิ้วป่า
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด ปลาเคี้ยวไก้ ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลากา หอยขม หอยกาบ หอยเสียม
แมลง ไข่แมงมัน ขี้เบ้า ผึ้ง มิ้น ไข่มดแดง แมงดา
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา แกงไข่แมงมัน แกงขี้เบ้า น้ำพริกปลาแห้ง น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะกอก ลาบปลา ลาบปลาสุก ยำปลาแห้ง น้ำพริกแมงดา แกงขี้เหล็ก แกงหอยจูบ (หอยขม) แกงผักขี้เสียด แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว แกงไข่มดแดง แกงส้มยอดผักตบชวา น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา ห่อหมกปลากระทิง แกงหน่อส้ม ตำหน่อส้ม
มีนาคม
สภาพอากาศ ร้อน
พืชผัก ยอดสะเดา ผักตบ ผักกูด ผักกุ่ม มะระขี้นก ผักแซ่ว ผักขี้เสียด (ผักอีไร) ผักปู่ย่า (ชะเรือด) ขี้เหล็ก มะกอก มะขาม ผักขี้เหล็ก ผักเปี๋ยว ผักกาบปี ผักกาดนา ใบปอแตบ
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด ปลาเขี้ยวไก หอยขม หอยกาบ หอยเสียม
แมลง ไข่แมงมัน ขี้เบ้า ผึ้ง มิ้น แมงดา ไข่มดแดง
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา แกงไข่แมงมัน แกงขี้เบ้า น้ำพริกปลาแห้ง น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะกอก ลาบปลา ลาบปลาสุก ยำปลาแห้ง น้ำพริกแมงดา แกงขี้เหล็ก แกงหอยจูบ (หอยขม) แกงผักขี้เสียด แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว แกงไข่มดแดง แกงส้มยอดผักตบชวา น้ำพริกผักนึ่ง แกงหน่อส้ม ตำหน่อส้ม แกงส้มปลา ห่อหมกปลากระทิง ปลาส้ม
เมษายน
สภาพอากาศ ร้อน
พืชผัก ผักขี้เหล็ก ผักกุ่ม หน่อกิ่ง ผักม้วนหมู (กระทุงหมาบ้า) ผักขี้เสียด แคขี้นก ใบชะพลู ดอกก้าน (อีลอก) ดอกก้านเตะแตะ ผักตีนฮุ้ง ดอกก้านใบ ใบปอแตบ
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด หอยขม หอยกาบ หอยเสียม
แมลง แมงมัน มดแดง ผึ้ง มิ้ม
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา น้ำพริกปลาแห้ง ลาบปลา ลาบปลาสุก ยำปลาแห้ง น้ำพริกแมงดา แกงขี้เหล็ก แกงหอยจูบ (หอยขม) แกงผักขี้เสียด แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว แกงไข่มดแดง แกงส้มยอดผักตบชวา น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอ็บผึ้ง ตำมะม่วง ตำมะปราง แกงดอกก้าน แกงผักม้วนหมู แมงมันทอด น้ำพริกแมงมัน แกงหน่อไม้ ยำผักกุ่ม คั่วผักกุ่ม ปลาส้ม
พฤษภาคม
สภาพอากาศ ร้อน /เข้าฝน
พืชผัก หน่อกุ่น ผักกูดง้อง (หญ้ายายเภา) ดอกก้าน (อีลอก) ผักกุ่ม ผักขี้เหล็ก หน่อกิ่ง ผักม้วนหมู (กระทุงหมาบ้า) ผักขี้เสียด แคขี้นก ใบชะพลู ดอกก้าน (อีลอก) ดอกก้านเตะแตะ ผักตีนฮุ้ง ดอกก้านใน
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด กบ เขียด
แมลง แมงมัน จี้กุ่ง มิ้ม ผึ้ง
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา น้ำพริกปลาแห้ง ลาบปลา ลาบปลาสุก ยำปลาแห้ง แกงขี้เหล็ก แกงหอยจูบ (หอยขม) แกงผักขี้เสียด แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอ็บผึ้ง ตำมะม่วง ตำมะปราง แกงดอกก้าน แกงผักม้วนหมู แมงมันทอด น้ำพริกแมงมัน แกงหน่อไม้ ยำผักกุ่ม คั่วผักกุ่ม จี้งกุ่งทอด น้ำพริกจี้กุ่ง น้ำพริกกบ/เขียด ปลาส้ม
มิถุนายน
สภาพอากาศ ฝน
พืชผัก หน่อไม้ ผักกูดง้อง (หญ้ายายเภา ) ดอกก้าน (อีลอก) ผักกุ่ม ผักขี้เหล็ก หน่อกิ่ง ผักม้วนหมู แคขี้นก ใบชะพลู ดอกก้าน (อีลอก) ดอกก้านเตาะแตะ ผักตีนฮุ้ง ดอกก้านใบ เห็ดห้า (เห็ดตับเต่า) เห็ดหลุหละ (เห็ดหูหนู)
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลาหวาน (เนื้ออ่อน) ปลาสะลัง ปลาสังคะวาด ปลากดคัง ปลาชะโด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากา ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด
แมลง ตัวต่อ จี้กุ่ง ผึ้ง มิ้ม
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา ลาบปลา ลาบปลาสุก แกงขี้เหล็ก แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอ็บผึ้ง แกงดอกก้าน แกงผักม้วนหมู แกงเห็ด ห่อหมกเห็ด แกงหน่อไม้ ยำผักกุ่ม คั่วผักกุ่ม จี้กุ่งทอด น้ำพริกจี้กุ่ง น้ำพริกตัวต่อ ส้ากุ้ง (พล่ากุ้ง) น้ำพริกปู ไข่ปลาส้ม อ่องมันปูนา
กรกฎาคม
สภาพอากาศ ฝน (น้ำหลาก)
พืชผัก หน่อไม้ ผักกูดง้อง (หญ้ายายเภา) ดอกก้าน (อีลอก) ผักกุ่มผักขี้เหล็ก ผักกุ่ม หน่อกิ่ง ผักม้วนหมู แคขี้นก ใบชะพลู ดอกก้าน (อีลอก) ดอกก้านเตะแตะ ผักตีนฮุ้ง ดอกก้านใบ เห็ดห้า (เห็ดตับเต่า) เห็ดหลุหละ (เห็ดหูหนู)
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลาหวาน (เนื้ออ่อน) ปลาสะลัง ปลาสังคะวาด ปลากดคัง ปลาชะโด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากา ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด
แมลง หนอนรถด่วน ตัวต่อ จี้กุ่ง ผึ้ง มิ้น
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา ลาบปลา ลาบปลาสุก แกงขี้เหล็ก แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอ็บผึ้ง แกงดอกก้าน แกงเห็ด ห่อหมกเห็ด แกงหน่อไม้ ยำผักกุ่ม คั่วผักกุ่ม จี้กุ่งทอด น้ำพริกจี้กุ่ง น้ำพริกตัวต่อ ส้ากุ้ง (พล่ากุ้ง) น้ำพริกปู ไข่ปลาส้ม อ่องมันปูนา หนอนรถด่วนทอด น้ำพริกหนอนรถด่วน
สิงหาคม
สภาพอากาศ ฝน
พืชผัก มะเกว๋น (ตะขบป่า) มะเม่า ดอกก้านหน่อไม้ ผักกูดง้อง (หญ้ายายเภา) ดอกก้าน (อีลอก) ผักกุ่ม ผักขี้เหล็ก หน่อกิ่ง ผักม้วนหมู แคขี้นก ใบชะพลู ดอกก้าน (อีลอก) ดอกก้านเตาะแตะ ผักตีนฮุ้ง ดอกก้านใบ เห็ดห้า (เห็ดตับเต่า) เห็ดหลุหละ (เห็ดหูหนู)
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลาหวาน (เนื้ออ่อน) ปลาสลัง ปลาสังคะวาด ปลากดคัง ปลาชะโด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากา ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด
แมลง หนอนรถด่วน ตัวต่อ ผึ้ง จี้กุ่ง
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา ลาบปลา ลาบปลาสุก แกงขี้เหล็ก แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอบผึ้ง แกงดอกก้าน แกงเห็ด ห่อหมกเห็ด แกงหน่อไม้ จี้กุ่งทอด น้ำพริกจี้กุ่ง น้ำพริกตัวต่อ ส้ากุ้ง (พล่ากุ้ง) น้ำพริกปู ไข่ปลาส้ม อ่องมันปูนา น้ำพริกปลาร้า ยำหน่อไม้ หนอนรถด่วนทอด น้ำพริกหนอนรถด่วน ยำผักปู่ย่า
ตุลาคม
สภาพอากาศ ต้นหนาว (น้ำเริ่มขอด)
พืชผัก มะขาม หน่อไม้ ผักแซ่ว เห็ดห้า (เห็ดตับเต่า) เห็ดหลุหละ (เห็ดหูหนู)
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลาหวาน (เนื้ออ่อน) ปลาสลัง ปลาสังคะวาด ปลากดคัง ปลาชะโด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากา ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด
แมลง จี้กุ่ง ตัวต่อ ผึ้ง
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา ลาบปลา ลาบปลาสุก แกงขี้เหล็ก แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอ็บผึ้ง แกงดอกก้าน แกงเห็ด ห่อหมกเห็ด แกงหน่อไม้ ยำผักกุ่ม คั่วผักกุ่ม จี้กุ่งทอด น้ำพริกจี้กุ่ง น้ำพริกตัวต่อ ส้ากุ้ง (พล่ากุ้ง) น้ำพริกปู ไข่ปลาส้ม อ่องมันปูนา น้ำพริกปลาร้า ยำหน่อไม้ แกงผักกูด ยำผักกูด
พฤศจิกายน
สภาพอากาศ หนาว (น้ำแห้ง)
พืชผัก มะขาม สะเดา ผักกุ่ม ผักขี้เหล็ก ผักกุ่ม ผักขี้เสียด มะกอก ผักปู่ย่า
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลาหวาน (เนื้ออ่อน) ปลาสลัง ปลาสังคะวาด ปลากดคัง ปลาชะโด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากา ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด
แมลง ตัวต่อ จี้กุ่ง แมงดา ผึ้ง
อาหาร แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา ลาบปลา ลาบปลาสุก แกงขี้เหล็ก แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา แอ็บผึ้ง แกงดอกก้าน แกงเห็ด ห่อหมกเห็ด แกงหน่อไม้ ยำผักกุ่ม คั่วผักกุ่ม จี้กุ่งทอด น้ำพริกจี้กุ่ง น้ำพริกตัวต่อ ส้ากุ้ง (พล่ากุ้ง) น้ำพริกปลาร้า แกงผักกูด ยำผักกูด น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะกอก
ธันวาคม
สภาพอากาศ หนาว
พืชผัก ผักกุ่ม มะขาม มะกอก ผักขี้เสียด ผักปู่ญ่า ผักเปี๋ยว
สัตว์น้ำ ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลาหวาน (เนื้ออ่อน) ปลาสลัง ปลาสังคะวาด ปลากดคัง ปลาชะโด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน ปลากา ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากระบอก ปลาสร้อย ปลาค้าว ปลากราย ปลาฉลาด
แมลง แมงดา ผึ้ง มดแดง
อาหาร ตำเตา แกงยอดสะเดา ตำยอดสะเดา แกงไข่แมงมัน แกงขี้เบ้า น้ำพริกปลาแห้ง น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะกอก ลาบปลา ลาบปลาสุก ยำปลาแห้ง น้ำพริกแมงดา แกงขี้เหล็ก แกงหอยจูบ (หอยขม) แกงผักขี้เสียด แกงแค คั่วแค แกงผักแซ่ว แกงไข่มดแดง แกงส้มยอดผักตบชวา น้ำพริกผักนึ่ง แกงส้มปลา ห่อหมกปลากระทิง ปลาย่าง ส้าปลา (พล่าปลา).
Seeds Journey : อาหารเล่าเรื่อง ‘คนกับป่า’
สถานการณ์ด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าอาข่าในลุ่มน้ำแม่โขงนั้นวิกฤติแล้ว ผมใช้คำว่าวิกฤติ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการถูกรุกล้ำจากภายนอก หรือแม้แต่การอนุรักษ์แบบทางการ เพราะสถานการณ์หลายอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ได้เป็นแบบที่เคยเป็นแล้ว การตั้งตน ตั้งกลุ่มองค์กรเพื่อทำงานด้านการสื่อสาร ด้านวิชาการให้กับคนที่สนใจเรื่องอาข่าจึงมีความสำคัญ - อาทู่ ปอแช
อาทู่ ปอแช หรือ ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก
ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่า เชียงราย
ภาพ: อพิเชษฐ์ สุขแก้ว
ไม่เพียงแค่ผลกระทบ 'โขงรวน' ริมสองฝั่งแม่น้ำโขงและตลอดจนลำน้ำสาขา อันเกิดจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนใหญ่ หากแต่สถานการณ์พื้นที่ตอนในของลุ่มน้ำโขง ยังปรากฏให้เห็นผลกระทบอันเป็นผลจากนโยบายอันยาวนานของรัฐไทยที่มุ่งควบคุมพลเมืองและจัดการทรัพยากร
อาทู่ ปอแช หรือ ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่า เชียงราย ชี้ให้เห็นว่า การที่คนตัวเล็กตัวน้อยโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งรัฐไทยไม่ได้มองว่าเป็นพลเมืองต้องเผชิญกับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นโครงการพัฒนาในและนอกประเทศผ่านรูปแบบการลงทุนข้ามชาติ นอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการพัฒนาเหล่านี้ยังได้สร้างผลกระทบทางวัฒนธรรมให้กับผู้คนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีมากกว่า 30 ชาติพันธุ์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ามีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ
อาทู่ ผู้ศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้อาหารพื้นบ้านเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำโขงกล่าวด้วยว่า ผลกระทบทางด้านวัฒนธรรมโดยมากเกิดจากการยื้อแย้งอำนาจการจัดการทรัพยากรที่รัฐไม่ยอมให้ผู้คนในพื้นที่สามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างอิสระและบังคับให้ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นต้น
ระเบียบปฏิบัติเหล่านี้สร้างช่องว่างของความรู้ระหว่างคนที่อาศัยอยู่กับป่าและผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนไทย แต่กลับมองผ่านวาทกรรมความมั่นคงจนถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ ลุ่มน้ำโขง ในบริเวณจังหวัดเชียงรายเป็นมากกว่าปัญหาการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่ขยายไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
“การมองผู้คนผ่านการแบ่งเส้นพรมแดนสมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการไม่ยอมรับความหลากหลายของผู้คนซึ่งเกี่ยวโยงกับการจัดการทรัพยากร เพราะหากทลายเส้นแบ่งแบบรัฐสมัยใหม่ออก จะเห็นความสัมพันธ์ในเชิงภาษา-วัฒนธรรม และเห็นคนชาติพันธุ์อาข่ากระจายอยู่ทั่วไปตลอดลุ่มน้ำโขงตั้งแต่จีน ลาว พม่า ไทย ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็คือคนอาข่า” อาทู่ ปอแช กล่าว
กว่า 30 ปีของการทำงาน อาทู่เชื่อมโยงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเข้ากับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาเห็นว่า เครื่องมือหนึ่งที่จะใช้ในการต่อสู้กับวาทกรรมความมั่นคงชายแดน คือการสร้างเรื่องเล่าของคนท้องถิ่นที่แตกต่างจากรัฐโดยคนท้องถิ่นเอง เพื่อทำให้เห็นความสัมพันธ์ของ ‘คน ป่าและแม่น้ำ’ วิถีชีวิตที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อขับเน้นให้เห็นถึงศักดิ์ศรีความเป็นคน
เขากล่าวด้วยว่า ไม่ว่าชาวอาข่าไปตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่ไหน ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในบริเวณที่อยู่ของพวกเขา ดังนั้น การบันทึกข้อมูล เรียนรู้เรื่องราวของอาข่าและกลุ่มชาติพันธุ์ จนกระทั่งยกระดับเป็นงานวิจัยผ่านสถาบันวิชาการ ทำให้สามารถก่อตั้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า ใช้มิติวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาของรัฐ เพิ่มศักยภาพของชุมชนในการรับมือกับความเปลี่ยนของของโลก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาดหรือสุขภาพ และสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับผู้คนชนเผ่าไปด้วยได้
เราหรือใคร ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ ล้วนอยากกลับไปค้นหาความเป็นตัวเองจากประสบการณ์ ความคุ้นชิน อย่างเช่นรสชาติของอาหาร เมื่อทำความรู้จักอาหาร ก็จะสัมพันธ์กับสถานที่และคนอื่นๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...Seeds Journey มีเป้าหมายที่การผลิตอาหารและสื่อสาร ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี และย้ำให้เห็นว่า ความหลากหลายของชาติพันธุ์และความหลากหลายในระบบนิเวศเป็นเรื่องเดียวกัน - กัลยา เชอมือ
ชุมชนอาข่าที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จุดเริ่มต้นของ Seeds Journey
ที่มา: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ
กัลยา เชอมือ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Seeds Journey
ที่มา: เพจ Seeds Journey
ตัวอย่างหนึ่งของการนำมิติวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มศักยภาพของชุมชนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนของของโลกอย่างที่อาทู่กล่าวถึง ก็คงต้องเล่าถึงกลุ่ม Seeds Journey เพจสื่อสารเรื่องอาหารชาติพันธุ์ ผลงานคนรุ่นใหม่ชาวอาข่า แห่งบ้านป่าเกี๊ยะ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
กัลยา เชอมือ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Seeds Journey เป็นคนชาติพันธุ์อาข่ารุ่นใหม่ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักสื่อสาร โดยการเล่าเรื่องผ่านอาหารอาข่า เพื่อให้คนภายนอกเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนในประเทศไทย
"เราหรือใคร ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ ล้วนอยากกลับไปค้นหาความเป็นตัวเองจากประสบการณ์ ความคุ้นชิน อย่างเช่นรสชาติของอาหาร เมื่อทำความรู้จักอาหาร ก็จะสัมพันธ์กับสถานที่และคนอื่นๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...Seeds Journey มีเป้าหมายที่การผลิตอาหารและสื่อสาร ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี และย้ำให้เห็นว่า ความหลากหลายของชาติพันธุ์และความหลากหลายในระบบนิเวศเป็นเรื่องเดียวกัน"
เธอนำภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นในหมู่บ้านชายแดนที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการพัฒนา มาเล่าให้คนเมืองเห็นความเชื่อมโยงและความเกี่ยวข้องของผู้คนที่แม้จะแตกต่างทางภาษา ทางชาติพันธุ์ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยที่มีบทบาทในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าและใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยอาศัยภูมิปัญญาของชุมชน ไม่ใช่คนชายขอบที่ถูกสังคมมองเห็นเป็นผู้เปราะบางและต้องการการจัดการจากภาครัฐเป็นพิเศษ
การผลิตสื่อสารคดีและสร้างกิจกรรมตลอดระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่ม Seeds Journey คว้ารางวัลจากการประกวดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) โดยการสื่อสารเรื่องอาหารชุมชนชาติพันธุ์ และการตีความของกลุ่ม Seeds Journey ที่มองว่า อาหารไม่ใช่เรื่องของชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่อาหารคือวิถีของความเป็นคน และทุกคนบนโลกนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์
ก่อนเริ่มต้นสื่อสารผ่านเพจ Seeds Journey ชีวิตของกัลยานั้น ไม่แตกต่างจากกลุ่มคนชาติพันธุ์จำนวนมากในประเทศไทย เพราะกัลยาเคยอยู่ในสถานะคนไร้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชนจนถึงอายุ 25 ปี ทำให้วัยเด็กซึ่งควรเป็นช่วงวัยของการศึกษา กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องพยายามอดทนอย่างยากลำบากกับการถูกเลือกปฏิบัติ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและบริการจากรัฐ
"ตอนอยู่โรงงาน เพื่อนที่มีสัญชาติไทยที่ทำงานด้วยกัน แต่ได้เงินเดือนมากกว่าเรา โรงงานที่ทำเป็นโรงงานประกอบแอร์ แล้วก็มีเหตุการณ์ระเบิดบ่อยมาก ... วันที่เราเกิดอาการแพ้พวกทองแดง ผื่นขึ้นเต็มตัวจนต้องเข้าโรงพยาบาล เงินที่ทำงานได้มาก็เอามารักษาตัวเองจนหมด แถมถูกไล่ออกโดยไม่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยอะไรเลย เพราะเราไม่มีสัญชาติไทย เขาจะทำอะไรกับเราก็ได้"
"... ในที่สุดเพื่อนก็ชวนไปทำงานที่ศูนย์อพยพแม่สอด แม้งานที่ทำจะดีมาก แต่ก็มีอุปสรรค เวลาจะออกมาสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ต้องทำเอกสารขอออกนอกพื้นที่ ต้องไปขอหนังสือเดินทาง ต้องไปบอกพ่อหลวงบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) บอกปลัดท้องที่ ใช้เวลา 14 วัน บางครั้งก็โดนเจ้าหน้าที่จับระหว่างทาง...มีอยู่ครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ถามว่าจะเสียค่าปรับหรือจะเข้าคุก ด้วยความที่เราไม่มีเงิน เราเลยบอกไปว่าขอเข้าคุก แต่ก่อนที่จะเข้าคุก ขอโทรหาเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้ไหม เจ้าหน้าที่ถึงปล่อย นี่คือสภาพที่เราต้องเจอมาตลอดจนกระทั่งอายุ 25 ปี ทั้งที่เราเกิดในประเทศไทย” กัลยากล่าว
ไม่เพียงแค่เรื่องเข้าไม่ถึงสวัสดิการและการดูแลในฐานะพลเมืองของรัฐไทย หลายครั้งยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเพียงเพราะเธอไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นคนไทย ซึ่งคนเหล่านี้ต้องอดทนและมุ่งมั่นอย่างมากในการพิสูจน์ให้คนที่มีอำนาจเห็นว่า ผู้คนชาติพันธุ์ที่เกิดในประเทศไทยนี้มีคุณประโยชน์เพียงพอที่จะได้รับสัญชาติและมีสิทธิในฐานะพลเมือง
ช่วงฤดูกาลเก็บบ๊วยของชุมชนอาข่า อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
ที่มา: เพจ Seeds Journey
ทีมงาน Seeds Journey
ที่มา: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ
เมื่อกลับมาตั้งหลักที่บ้าน สิ่งที่กัลยากับเพื่อนทำคือเล่าเรื่องการเดินทางของเมล็ดพันธุ์ (seeds journey) และสาเหตุที่ต้องเล่าเรื่องราวอาหารชาติพันธุ์ก็เพราะ "เราใช้อาหารในการยืนยันอัตลักษณ์ วิถีความเป็นอยู่ รากเหง้า ประวัติศาสตร์ของผู้คน ชุมชน เพื่อสื่อสารให้คนอื่นๆ รับรู้ว่า ความเป็นคนอาข่าหรือความเป็นคนชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก"
"การใช้เรื่องเล่าผ่านอาหารและวัฒนธรรมสามารถเชื่อมโยงให้เห็นว่า ชุมชนเล็กๆ ในป่าเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก นโยบายและการเมืองเกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไร เช่น ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ไร่หมุนเวียน การใช้สารเคมี พืชเชิงเดี่ยว ทำให้คนภายนอกเปิดใจยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่" กัลยากล่าว
เพราะถึงที่สุด กัลยาเชื่อเสมอว่า ความเป็นชาติพันธุ์ของเธอคือความแตกต่าง และคนไทยทุกคนก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างเหมือนกันหมด การที่กัลยานำอาหารการกินในบ้านตัวเองมาเล่า ทำให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและเห็นถึงโลกทัศน์ของผู้คนชาติพันธุ์ ทำให้เรื่องราวที่สื่อสารไม่ใช่เพียงแค่การรู้จักอาหารของท้องถิ่น แต่กลายเป็นการสร้างการยอมรับและการเปิดใจรับความแตกต่างของวัฒนธรรมในประเทศไทยในที่สุด เพราะการยอมรับความแตกต่าง คือการเคารพความเป็นคน คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่คนรุ่นใหม่อย่างกัลยามองเห็นและเชื่อมั่น