'ชาวฮาวาย' หันกลับไปหา 'ภูมิปัญญาท้องถิ่น' รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ปัญหาสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อุณหภูมิปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือสิ่งที่คนทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ขณะที่ความพยายามในระดับนานาชาติเพื่อหาทางออกให้กับมนุษยชาติยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอยู่นี้ ผู้คนในฮาวายตัดสินใจหันกลับไปดูวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเพื่อพลิกฟื้นผืนดินและธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า จะสามารถนำมาต่อยอดไปสู่วิธีที่อาจทำให้วิกฤตที่กำลังจะมาถึงคลี่คลายลงไปได้สักวันหนึ่ง

ฮาวายต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่เกิดจากภาวะโลกร้อน โยผลกระทบที่เลวร้ายจากกิจกรรมต่างๆ ที่นักวิจารณ์เรียกว่าเป็นการละเลยต่อระบบนิเวศน์ในท้องถิ่น

พวกเขากล่าวว่าการฟื้นฟูประเพณีอันดีงามอาจช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ โดยการจำกัดการกัดเซาะชายฝั่ง พลิกกลับภาวะความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นของน่านน้ำชายฝั่ง และลดภาวะน้ำท่วมจากพายุที่รุนแรง

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า โรงแรมและบ้านเรือนที่อยู่ตามริมชายฝั่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแล้ว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับ 40% ของชายหาดเกาะโออาฮู ซึ่งเป็นเกาะหลักของรัฐภายในปี 2050 ซึ่งหมายถึง ผลเสียต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของคนในรัฐนี้ด้วย

ในภาวะที่สถานการณ์โลกอาจอยู่ในสภาพดี ด้วยสมมติฐานว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ระดับน้ำทะเลยังจะเพิ่มขึ้น 30 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้อยู่ดี ตามผลการคาดการณ์ในปัจจุบัน ขณะที่ หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด ระดับน้ำในมหาสมุทรอาจเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เมตรภายในปี 2100 ซึ่งหมายถึงกรทำลายล้างบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งหมด และทำให้ผู้คนบนเกาะเหล่านี้ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น

ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสปี 2015 มีเป้าหมายเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อน ไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

แต่ในความเป็นจริง อุณหภูมิในอากาศและมหาสมุทรยังคงเพิ่มสูงขึ้น และความเป็นกรดก็เพิ่มขึ้นเมื่อมหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ซึ่งส่งผลทำลายแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลไปโดยปริยาย

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของสภาพอากาศยังทำให้ฝนตกแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ และในบางแห่งอาจเกิดภัยแล้งด้วย

วิกตอเรีย คีเนอร์ (Victoria Keener) ผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ศูนย์ East-West Center ของโฮโนลูลู กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยในบางพื้นที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ในบางพื้นที่กลับลดลง

คีเนอร์ กล่าวด้วยว่า สภาพในฮาวายเริ่มมีปัญหาความแห้งแล้งแล้ว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ตามส่วนต่างๆ ของเกาะ ขณะที่อุณหภูมินั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เมื่อขึ้นไปยังพื้นที่สูง

เมื่อถามถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งก็คือ สภาพอากาศอันไม่แน่นอนที่ส่งผลให้เกิดพายุรุนแรงและน้ำท่วมบนเกาะเมาอิและเกาะอื่นๆ ซึ่งทำลายบ้านเรือนและสะพานต่างๆ ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คีเนอร์ กล่าวเสริมด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังนำมาซึ่งผลกระทบต่างๆ เช่นการปนเปื้อนในบ่อน้ำบาดาลใกล้ชายฝั่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายด้วย

ทั้งนี้ โฮโนลูลู เป็นพื้นที่เมืองอันทันสมัย ที่ตั้งอยู่บนเกาะโออาฮู และมีประชากรประมาณ 950,000 คน

และเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทางการก็จัดการเปลี่ยนทางน้ำธรรมชาติเพื่อควบคุมน้ำท่วม ซึ่งก็คือการปิดกั้นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่เชื่อมภูเขา กับที่ราบลุ่ม และชายฝั่งภายใต้ระบบนิเวศเดียวกัน

เซเลสต์ คอนเนอร์ส (Celeste Connors) แห่งองค์กร Hawaii Green Growth ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ กล่าวถึง ลุ่มน้ำเหนือหุบเขามาโนอา (Manoa) ซึ่งระบายน้ำฝนจากภูเขาไปยังชายฝั่ง ที่เธอบอกว่า เป็นศูนย์กลางของระบบธรรมชาติที่เชื่อมโยงเนินเขาเหล่านี้กับที่ราบลุ่มเกษตรกรรมและชายฝั่งไวกิกิ

บริเวณดังกล่าวถูกเรียกว่าอาฮูปัวอา (ahupua’a) ซึ่งใช้เรียกทั้งหน่วยนับที่ดินและระบบการจัดการทรัพยากรซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ "สันเขา สู่แนวปะการัง" โดยทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนโดยหลักการจริยธรรมแห่งการดูแลจัดการของชาวฮาวายเรียกกันว่า มาลามา (mālama)

ปัจจุบัน มีความพยายามมากมายตามเกาะต่างๆ ที่จะฟื้นฟูวิธีการและค่านิยมการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมกันอยู่ เช่นในกรณีของ นิค เรปปัน (Nick Reppun) เกษตรกรผู้ซึ่งทำงานให้กับกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่ปลูกพืชหลักดั้งเดิม เช่น สาเกและเผือก ทางฝั่งตะวันออกของเกาะโออาฮู ด้วยจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มอันชุ่มน้ำเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติดังเดิมอีกครั้ง

พื้นที่การเกษตรที่ว่านี้ อยู่ติดกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในบริเวณซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สร้างบ้านหรูหรา ท่าจอดเรือยอร์ช และสนามกอล์ฟ ก่อนที่หน่วยงานสาธารณะจะเข้าแทรกแซงในปี 1991 และปัจจุบัน กลุ่มอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมกำลังเดินหน้าฟื้นฟูลุ่มน้ำบนภูเขาและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามชายฝั่ง พร้อมทั้งฟื้นฟูอาฮูปัวโบราณอีกแห่งหนึ่งที่เชื่อมต่อถึงกันอยู่ด้วย

เรปปัน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฟาร์มของโครงการเกษตรแห่งหนึ่งด้วย กล่าวว่า ทุกคนแค่พยายามทำในสิ่งที่ทราบว่าเคยทำมาแล้วและเคยได้ผลมาก่อน โดยที่ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ แต่เป็นการชุบชีวิตสิ่งที่เคยใช้มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เกาะเหล่านี้ยังไม่ถึงจุดที่พึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียงนัก โดยต้องนำเข้าอาหารจากภายนอก 85% ถึง 90% ซึ่งเป็นจุดที่ยังต้องได้รับการแก้ไขอย่างมาก และนักวิจัยเชื่อว่า ความพยายามจากล่างขึ้นบน อย่างเช่น การผลักดันให้เกาะต่างๆ กลายมาเป็นศูนย์กลางด้านอาหารที่เชื่อมให้พื้นที่การเกษตรขนาดเล็กและผู้ซื้อให้เข้าถึงกันได้ จะเป็นหนทางไปสู่จุดที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ได้

แต่สำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น แม้ยังไม่มีวิธีง่ายๆ ที่จะสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาให้สำเร็จได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหมู่เกาะต่างๆ ทำให้พื้นที่เหล่านี้สามารถเป็นศูนย์รวมสำหรับการศึกษาด้านนี้ รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน ที่จะต่อยอดไปสู่วิธีการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในที่สุด


ที่มา: VOA, 10/9/2021
ภาพประกอบ: KUA