เปิดข้อเสนอจัดตั้ง 'เทศบาลนครแม่สอด' เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ 'นครแม่สอด'
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดตั้งเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ของคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดตั้งเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ของคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 การจัดตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” โดยควบรวมเทศบาลนครแม่สอดกับเทศบาลตำบลท่าสายลวด ยังมีความจำเป็นและเหมาะสม เนื่องจากเทศบาลนครแม่สอดเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีลักษณะพิเศษหรือลักษณะเฉพาะ เป็นเมืองการค้าชายแดนแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่สำคัญที่มีการค้าขายของสองประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน คือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีการค้าชายแดน การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การนำเข้าและส่งออก ดังนั้น การยกฐานะเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ จึงเห็นควรสนับสนุนให้จัดตั้งเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมต่อไป เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และสามารถจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีหน้าที่และอำนาจหน้าที่จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สามารถครอบคลุมรอบด้าน และปัญหาด้านรายได้ที่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างมาก
1.2 นอกจากนี้ การยกฐานะเทศบาลนครแม่สอดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษยังมีความจำเป็นเพื่อทำหน้าที่รองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเทศบาลนครแม่สอดเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีความพร้อมและศักยภาพมากที่สุดในการทำหน้าที่ แต่โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ให้ชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. …. จึงทำให้การดำเนินการยกฐานะเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษต้องหยุดชะงักลง
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สปน. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สปน. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2. ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ประเด็น | ผลการพิจารณาศึกษา |
1. ความสอดคล้องกับร่างแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 – 2565 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 – 2565 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2580 | - ร่างแผนการกระจายอำนาจฯ และแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการกระจายอำนาจ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการกระจายอำนาจ การเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ และพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมและศักยภาพเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. …. จึงสอดคล้องกับร่างแผนการกระจายอำนาจฯ และแผนปฏิบัติการฯ แล้ว - การจัดตั้ง “นครแม่สอด” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564 ในเรื่องการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
2. ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย | - ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. …. ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากได้ยกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลใช้บังคับ ส่งผลให้เนื้อหาและข้อกฎหมายบางส่วนไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 - กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ในการเสนอความต้องการให้จัดตั้ง “นครแม่สอด” สอดคล้องกับความเห็นของ มท. เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 249 ซึ่ง มท. ได้มอบหมายให้ จ.ตาก ดำเนินการสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษดังกล่าวแล้ว |
3. ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง | - การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เหมาะสมมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องต้องนำมาประกอบการพิจารณา เช่น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนโครงสร้างอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น |