อาชีวศึกษากาญจนบุรี เปิดตัว โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกจากกองทุนแสงอาทิตย์
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปีที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ที่เปิดรับเงินบริจาคผ่านกองทุนฯ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ
วิทยาลัยการอาชีพกาญจบุรีถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เริ่มโครงการโซลาร์เจเนอเรชั่นนี้ ซึ่งในช่วงเช้าของวันนี้ได้มีกิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อระดมทุนส่งต่อให้กับวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่มซึ่งจะเป็นสถาบันการศึกษาที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมากกว่า 500 คน เริ่มต้นจากโรงงานกระดาษไทยไปสิ้นสุดที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว
รศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “ในช่วงปี 2562-2563 กองทุนแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนจนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 240.63 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี และในปีนี้เรายังคงเดินหน้าโครงการเฟสที่ 2 คือ “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์” (Solar Generation) ในวันนี้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรีได้สำเร็จแล้ว ถือเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกจากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์”
วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักเรียน นักศึกษาสายอาชีพกว่า 2,000 คน ในด้านวิชาชีพตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ได้แก่ กลุ่มวิชาพาณิชยกรรม กลุ่มวิชาศิลปกรรม กลุ่มวิชาคหกรรม กลุ่มวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์
ดร.ณัฐวุฒิ ไถ้เงิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี กล่าวว่า “ ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัยได้ และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนในวิทยาลัยได้ ล์ และสิ่งสำคัญคือ การเริ่มต้นติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในครั้งนี้ เป็นการติดตั้งที่สถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเรียนและจะจบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียงมีโอกาสในการสร้างอาชีพจากการลงทุนหรือทำงานตั้งตั้งโซลาร์เซลล์อีกด้วย”
นางสาวจริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า“การฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นจากการจ้างงานของพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา หากวิทยาลัยสายอาชีพของรัฐราว 429 แห่ง มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์แห่งละ 10 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ราว 4 เมกะวัตต์ และยังเป็นการสร้างโอกาสในการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ ยิ่งหากมีการพัฒนาพลังงนหมุนเวียนจนครบถ้วน 100% ในปี 2593 การจ้างงานโดยตรงของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยในปี 2593 ราว 76,620 ตําแหน่งงาน”
นอกจากนี้หากรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้กับโรงเรียนของรัฐอีกราว 31,021 แห่งทั่วประเทศ โดยติดตั้งแห่งละ 5-100กิโลวัตต์ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 735.12 เมกะวัตต์โดยจะช่วยให้โรงเรียนประหยัดงบประมาณที่จะต้องไปจ่ายค่าไฟฟ้าทุกปีและโรงเรียนสามารถขายไฟฟ้ามีรายได้เพิ่มทั้งหมด 5,098 (6) ล้านบาทต่อปี หรือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 4.48 ปี
หมายเหตุ :
[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง
[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมี ส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1)คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2)คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช) (3)สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4)มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) (5)เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6)สมาคมประชาสังคมชุมพร (7) มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต (8)บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9)Solarder (10)โรงเรียนศรีแสงธรรม (11)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด) (12)เครือข่ายสลัม4ภาค (13)มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14)เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15)มูลนิธิสุขภาพไทย และ (16)กรีนพีซ ประเทศไทย
[3] ในปี 2563-2564 กองทุนแสงอาทิตย์จะระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ เป็นการระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาเซลล์ให้กับวิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่งๆละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง,วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร ,วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง,วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ,วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
[4] ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันมาตรการ Net Metering การรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป แบบระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้วได้ที่ https://act.gp/2PizTpx
[5] จำนวนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ https://bit.ly/3msmxUz
[6] รายงานการการจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย https://www.greenpeace.or.th/report/renewable-energy-job-creation-in-thailand.pdf
[7] รายงานปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (ปี 2564-2566)Thailand Solar Rooftop Revolution for Green and Just Economic Recovery 2021-2023 https://bit.ly/2WoQMkA