ระดมสมองสร้าง ‘ตำบลเข้มแข็ง’ ชี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมสร้าง-รัฐเร่งกระจายอำนาจ
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน) (พอช.) และกองทุนสานพลังเพื่อสังคมสุขภาวะ ได้จัดเวทีเสวนาหัวเรื่อง ‘สานพลังขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็ง: มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ยุคหลังโควิด-19’ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร อนุกรรมการติดตามกรปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย ดำเนินการอภิปรายโดย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย
นายเอ็นนูกล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยเผชิญกับปัญหาสังคมหลากหลายด้าน จนนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศขึ้น ซึ่งได้มีการทำงานตามแผนไปตามลำดับ ล่าสุดมีปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในรอบปีนี้ นับตั้งแต่ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไปจนถึงปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างชุมชนหรือตำบลให้เข้มแข็ง โดยต้องทำให้คนมีวิถีพอเพียง ทำให้ข้อมูลและความรู้เป็นปัญญา มีเครื่องมือที่เหมาะสม และต้องมีนวัตกรรม นอกจากนี้ การสร้างตำบลเข้มแข็งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม “ผมเชื่อว่าปัญหาทั้งหมดมีทางออก ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สอนมานานแล้ว แต่เราไม่นำมาสานต่อหรือทำอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
นายเอ็นนู ชี้ว่าสถานการณ์หลังโควิด-19 ตามที่นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวไว้คือจะเกิดสิ่งใหม่ขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึกใหม่ วิธีคิดใหม่ วิธีทำใหม่ จุดมุ่งหมายใหม่ วิธีร่วมมือใหม่ ซึ่งรวมแล้วจะเป็นยุคใหม่ของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดจากภายในหรือหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ตัวคนก่อน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับตำบลเข้มแข็งนั้น มีส่วนหนึ่งที่ตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้ตำบลมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดูระบบบัญชีงบประมาณ และระบบบริหารจัดการภาครัฐในปัจจุบัน พบว่ายังไม่สามารถสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเต็มที่
นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงในยุคหลังโควิด-19 นั้น จะต้องมองระยะยาว เพราะสังคมในระดับโลกจะเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รุนแรง และรวดเร็ว เมื่อโลกเผชิญกับความไม่แน่นอน การมองปัญหาต่างๆ จะต้องมองเป็นโครงสร้าง มองเห็นเป็นระบบ ไม่สามารถมองแบบแยกย่อยเป็นปัญหาเฉพาะเรื่องได้ เพราะจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ การทำงานต่อไปในยุคนี้จึงต้องมีการสร้างนโยบายสาธารณะที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ทั้งหมด ต้องเปิดให้มีหุ้นส่วนในการทำงาน ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาน และต้องมีความไว้วางใจกัน
นอกจากนี้ นายชาญเชาวน์กล่าวด้วยว่า กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ จะต้องเน้นไปที่การส่งเสริมและสร้างหลักประกันให้มนุษย์ เพราะจากนี้เราจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีความแน่นอนตลอดเวลา กฎหมายที่แข็งตัวจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และต้องลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนโครงสร้างต่างๆ จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และมนุษย์จะต้องปรับสมดุลตลอดเวลา
นายชาญเชาวน์ ระบุว่าการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ของไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเริ่มมาจากคำว่า ‘เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน’ หมายถึง ความสุขและการอยู่ดีกินดี การบริหารจัดการภาครัฐภายใต้แนวคิดนี้ดำเนินการมาราว 15-16 ปี จนกระทั่งปี 2561 ได้มีคำใหม่ขึ้นมาคือ การบริหารราชการอย่างบูรณาการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านี้ระบบการบริหารราชการของไทยไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน จึงต้องบูรณาการเพิ่มมากขึ้น และผลสัมฤทธิ์นั้น ก็ต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าอะไรคือผลสัมฤทธิ์จากการทำโครงการต่างๆ “...เราต้องมุ่งสู่ประโยชน์สุขของประชาชนในเชิงชุมชน โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘แผน’ มีการกำหนดว่าการทำแผนต้องเน้นความต้องการของชาวบ้าน และให้ความสำคัญกับปัญหาของชาวบ้านในระดับพื้นที่”
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร กล่าวถึงชุมชนเข้มแข็งหรือตำบลเข้มแข็งว่า มีเป้าหมายเริ่มแรกจากความต้องการให้ชุมชนจัดการกันเองได้ ชุมชนมีรายได้ มีเศรษฐกิจที่ดี และชุมชนมีภูมิคุ้มกันปัจจัยคุกคามจากภายนอก “กรณีโควิด-19 ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าหลายชุมชนมีการจัดการที่ดี มีการร่วมมือกันในหลากหลายภาคส่วนทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของชุมชน”
นางกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปเพื่อสร้างให้ชุมชนหรือตำบลเข้มแข็งนั้น แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ การปฏิรูปเชิงพื้นที่และการปฏิรูปเชิงประเด็น โดยการปฏิรูปเชิงพื้นที่คือ การที่ชุมชนหรือท้องถิ่นที่ได้รับความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนด้วยกันคือ ภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างประโยชน์และใช้ทรัพยากรร่วมกัน จัดทำแผนงานและจัดการกันเองได้
ส่วนการปฏิรูปในเชิงประเด็น มีอยู่ 4 ประเด็น นางกรรณิการ์ อธิบายว่า ประเด็นที่ 1 คือ สิทธิและบทบาทของชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่นเวลานี้กำลังดำเนินการร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนท้องถิ่นอยู่ และมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรชุมชน รวมทั้งมีการส่งเสริมสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการผลักดัน พ.ร.บ.ยุติธรรมชุมชนด้วย
ประเด็นที่ 2 คือ ทรัพยากรและทุนของชุมชน ในส่วนนี้มีความเคลื่อนไหวทั้งในการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ และการจัดการเรื่องน้ำ ประเด็นที่ 3 คือ สวัสดิการชุมชน ในปัจจุบันมีการทำสวัสดิการชุมชนอยู่ในหลายพื้นที่อยู่แล้ว และขณะนี้กำลังดำเนินการให้มีการรับรองในทางกฎหมายด้วย และประเด็นที่ 4 คือเศรษฐกิจชุมชน ตอนนี้มีการดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อรองรับการสร้างเศรษฐกิจของชุมชน
“ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเชิงพื้นที่หรือการปฏิรูปเชิงประเด็นก็ตาม เงื่อนไขสำคัญของชุมชนหรือตำบลเข้มแข็งคือ การเพิ่มสิทธิหน้าที่และทรัพยากรให้กับชุมชน ภาครัฐ ฝ่ายวิชาการ หรือชุมชนเอง ต้องร่วมกันในเรื่องที่จะทำให้เกิดการกระจายอำนาจ เพราะสิ่งที่ติดขัดอยู่ตอนนี้คือ การกระจายอำนาจทำให้ สิทธิ หน้าที่ และทรัพยากรไปไม่ถึงชุมชน ส่วนเงื่อนไขที่สองคือ รัฐต้องขจัดปัญหาอุปสรรคในการปกป้องคุ้มครองชุมชน โดยรัฐต้องให้ความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสผ่านกระบวนการที่มีส่วนร่วม และเงื่อนไขสุดท้าย รัฐต้องเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนดำเนินการจัดการกันเองได้” นางกรรณิการ์กล่าว